วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

         ปัจจุบันมีกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยมีมากมาย หลายประเภท  เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร  เป็นต้น กฎหมายแต่ละประเภทก็มีผลบังคับใช้แตกต่างกัน บางประเภทมีผลบังคับใช้กับบุคคลโดยทั่วไป บางประเภทก็มีผลบังคับใช้เฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตท้องที่นั้นๆ  กฎหมายที่มีความสำคัญบังคับใช้กับบุคคลทั่วไปย่อมมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายที่มีผลบังคับใช้เฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตท้องที่นั้นๆ ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า "ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย" ศักดิ์ของกฎหมายไทย มีดังนี้

ที่มา : https://dla.wu.ac.th/?p=589


1. กฎหมายแม่บทที่มีศักดิ์สูงที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์การปกครองและกำหนดโครงสร้างในการจัดตั้งองค์กรบริหารของรัฐ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนรวมไปถึงให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายอื่นๆที่ออกมาจะต้องออกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะก็จะไม่มีผลใช้บังคับได้ เราอาจเปรียบเทียบอย่างง่ายๆโดยนึกไปถึงผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง จ้างผู้รับจ้างให้ก่อสร้างบ้าน โดยให้หัวข้อมาว่าต้องการบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงมั่นคง รูปแบบบ้านเป็นทรงไทย ผู้รับจ้างก็ต้องทำการออกแบบและก่อสร้างให้โครงสร้างบ้านแข็งแรงและออกเป็นแบบทรงไทย ถ้าบ้านออกมาไม่ตรงตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ก็อาจถือได้ว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาได้ หัวข้อที่ผู้ว่าจ้างให้มาอาจเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์หรือรูปแบบเอาไว้เป็นแนวทางหรือเป้าหมาย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอาจเปรียบได้กับกฎหมายอื่นๆที่ต้องออกมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าออกแบบมาหรือสร้างไม่ตรงกับความต้องการก็เปรียบเทียบได้กับการออกกฎหมายอื่นๆมาโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลเป็นการผิดสัญญาหรืออาจเปรียบเทียบในทางกฎหมายได้ว่ากฎหมายนั้นๆใช้ไม่ได้ 


2. กฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎหมายเหล่านี้ถือว่ามีศักดิ์เป็นลำดับที่สองรองจากรัฐธรรมนูญ

  • ประมวลกฎหมาย คือเป็นการรวมรวบเอาหลักกฎหมายในเรื่องใหญ่ๆซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปมาจัดเป็นหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ ประมวลกฎหมายต่างๆ ถือเป็นกฎหมายที่เป็นหลักทั่วๆไป ที่กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลแต่ละคน บุคคลในสังคมต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรและห้ามประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง และรวมไปถึงการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิต่างๆของบุคคลแต่ละคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆที่รัฐธรรมนูญวางไว้
  • พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย ก็จะเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือพระราชบัญญัติสัญชาติ ก็จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องสัญชาติของบุคคล ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาลค่อนข้างมาก เพราะฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ และเสนอกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆให้สภานิติบัญญัติทำการออกนั่นเองและกฎหมายที่ออกมานั้นแม้จะมีการเปลี่ยนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็จะมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่ากฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกหรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
  • พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาล เป็นกฎหมายที่ออกใช้ไปพลางก่อนในกรณีที่มีจำเป็นเร่งด่วน หลังจากมีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว ในภายหลังพระราชกำหนดนั้นก็อาจกลายเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะมีผลบังคับเป็นการถาวรได้ ถ้าสภานิติบัญญัติให้การอนุมัติ แต่ถ้าสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็ตกไป แต่จะไม่ทระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งพระราชกำหนดจะออกได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น คือ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อจะป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา

3. กฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ พะราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง

  • พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งจะออกได้เฉพาะในกรณีต่อไปนี้คือ                 
    • รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในกิจการอันสำคัญที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
    • โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด คือจะต้องมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดให้อำนาจในการออกไว้ เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร พ.ศ. 2528 กำหนดว่าหากจะเปิดศาลภาษีอากรจังหวัดเมื่อใด ต้องประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ ด้วยการที่พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ดังนั้นจะออกมาขัดกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทนั้นไม่ได้
    • กรณีที่จำเป็นอื่นๆในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย
  • กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้ออก โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดจะกำหนดกฎเกณฑ์กว้างๆเอาไว้ ส่วนกฎกระทรวงก็จะมากำหนดรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง เช่น ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใดเพื่อขายทอดตลาด ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้ยึด อายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เราก็ต้องไปศึกษาในกฎกระทรวงอีกชั้นหนึ่งว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งนั้นคือใครบ้าง ฯลฯ

4. กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออก ได้แก่ เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบังคับสุขาภิบาล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

  • เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับโดยเฉพาะในแต่ละองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ทำการออกได้เช่นกัน เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น หรือเทศบัญญัติ ก็เป็นกฎหมายที่เทศบาลบัญญัติขึ้นใช้บังคับเฉพาะในเขตเทศบาลของตน




วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

เส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังราย

เส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังราย 

สำหรับเส้นทางนำเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีขอบเขตอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้น จะเริ่มต้นที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ ต่อไปจึงเข้าชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่, คุ้มเจ้าบุรีรัตน์(เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่), ประตูท่าแพ, วัดดอกเอื้อง, คุ้มเจ้าราชวงศ์(เจ้าเลาแก้ว ณ เชียงใหม่), วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์(มหาเถรจันทร์), วัดดวงดี, แล้วจึงกลับมาสู่จุดเริ่มต้น ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นเส้นทางนำเที่ยวที่มีลักษณะเดินทางเป็นวงกลมดังแสดงในแผนที่ และเที่ยวชมในระยะเวลา 1 วัน ( ที่มา : เส้นทางท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมเชิงประวัติศาสตร์,” การประชุมทางวิชาการสถาปัตยกรรมครั้งที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 28 มกราคม2548 )

เส้นทางนำเที่ยวนี้อยู่ภายในกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเรื่องราวของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังรายทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตามคัมภีร์มหาทักษาเรียกเขตนี้ว่าเป็น เดชเมือง และ ศรีเมือง เป็นที่ตั้งของวัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่และเป็นที่ประทับของพญามังรายในช่วงสร้างเมือง รวมไปถึงแจ่งศรีภูมิซึ่งเป็นจุดแรกของการสร้างกำแพงและคูเมือง นอกจากนั้นประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก, ตลอดจนวัดวาอารามและคุ้มเจ้าหลวง,คุ้มเจ้านายราชวงศ์ต่างๆในอดีต รวมทั้งเรื่องราวต่างๆที่ถ่ายทอดออกมาจากสิ่งที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ต่างให้ความรู้ต่อผู้ที่เข้าชมเป็นอย่างมาก

จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้คือบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชวิถี-พระปกเกล้า สำหรับวิธีการทัศนศึกษามีอยู่ด้วยกันหลายวิธีตั้งแต่การเดินด้วยเท้า, ใช้บริการสามล้อถีบรับจ้าง, หรือเช่าจักรยานในจุดบริการ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อของที่ระลึกได้ตลอดทางตามเส้นทางท่องเที่ยว

1. อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 1839 การสร้างเมืองในครั้งนั้นได้เชิญพระสหายอีก 2 องค์มาร่วมปรึกษากัน คือ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยและพญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา ปัจจุบันอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตั้งอยู่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ถ. พระปกเกล้า จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง นักท่องเที่ยวควรสักการะอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ได้สร้างอาณาจักรที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย หลังจากนั้นจึงเข้าชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน



หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เดิมเป็นที่ตั้งหอคำหรือคุ้มหลวงของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ต่อมาพระเจ้าอินทวโลรสและพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงยกที่คุ้มหลวงให้แก่ทางการสยาม สร้างศูนย์ราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลสยามได้สร้างอาคารขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 เป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกแบบ Neo-Classicism Colonial Revival เคยใช้เป็นศาลาว่าการและศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันจัดเป็นหอศิลปวัฒนธรรมที่มีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆอย่างครบวงจร รวมทั้งจัดแสดงเรื่องราวในราชวงศ์ของล้านนาด้วย นอกจากนั้นในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมยังมีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพญามังราย

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดสร้างโดยใช้พื้นที่หอประชุมติโลกราชเดิม เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนเรื่องราวทางด้านศิลปวัฒนธรรม ชีวประวัติของบุคคลที่สำคัญของล้านนา

2. คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่) สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ.2432 เป็นงานสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกแบบ Colonial Style ปัจจุบันใช้เป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา

3. ประตูท่าแพ เป็นประตูเวียงทางด้านทิศตะวันออกของเมือง เดิมมี 2 ชั้น ที่เห็นในปัจจุบันเป็นกำแพงชั้นในซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก แต่นิยมเรียกกันว่าประตูท่าแพแทนประตูชั้นนอกที่พังทลายไปแล้ว ได้รับการบูรณะใหม่ใน พ.ศ.2528-2529 พร้อมกับสร้างข่วงประตูท่าแพเพื่อใช้เป็นลานกิจกรรมของเมือง เช่น ลานถนนคนเดิน เป็นต้น

4. วัดดอกเอื้อง สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ. 2219 ลักษณะเด่นของสิ่งก่อสร้างภายในวัดคือเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมือง ด้านหน้าของฐานเจดีย์มีซุ้มทรงมณฑปที่ประดับด้วยลวดลายในอิทธิพลของพม่า ส่วนวิหารและอุโบสถมีรูปทรงแบบพื้นเมือง

5. คุ้มเจ้าราชวงศ์ (เจ้าเลาแก้ว ณ เชียงใหม่) ปัจจุบันคือคุ้มแก้วพาเลซซึ่งเป็นร้านอาหารขันโตกและสถานที่จัดการแสดง อาคารเดิมเป็นเรือนผสมเครื่องไม้แบบเชียงใหม่ใต้ถุนสูงขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ. 2440 สภาพปัจจุบันได้รับการปรับปรุงตกแต่งทั้งภายในและภายนอก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแวะรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนที่จะไปชมในสถานที่อื่นในลำดับต่อไป

6. วัดเชียงมั่น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1839 ถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ และหลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้ว พญามังรายโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นบริเวณหอนอนบ้านเชียงหมั้น ซึ่งพระองค์ใช้เป็นที่ประทับขณะสร้างเมืองเชียงใหม่ และโปรดให้เรียกชื่อวัดว่า วัดเชียงหมั้น ภายในวัดยังประกอบด้วยวิหารพระแก้วขาว(พระเสตังคมณี) ประดิษฐานใน พ.ศ.1824

7. วัดอุโมงค์ (มหาเถรจันทร์) สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ.1910 ในสมัยพญากือนา เดิมชื่อว่าวัดโพธิ์น้อย ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดมหาจันทร์ ตามชื่อเจ้าอาวาสรูปแรก สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-20 ซึ่งเป็นเวลาร่วมสมัยกับพญากือนาจนถึงพระเมืองแก้ว

ก่อนสิ้นสุดการท่องเที่ยวตามเส้นทางประวัติศาสตร์ของล้านนาเส้นทางนี้ นักท่องเที่ยวควรเข้าไปนมัสการพระประธานภายในวัดดวงดี เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ซึ่งวัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2039 ร่วมสมัยกับพระยอดเชียงราย ภายในวัดประกอบไปด้วยวิหาร, อุโบสถ, เจดีย์และหอไตรที่มีหลังคาทรงมณฑปซ้อนชั้น โดยเฉพาะหอไตรเป็นตัวอย่างของหลังคาซ้อนชั้นมุงด้วยแผ่นโลหะที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา

เมื่อนักท่องเที่ยวสิ้นสุดการเดินทางตามเส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังรายแล้ว ก็มาถึงจุดเริ่มต้นในครั้งแรกของการเดินทาง นั่นคือบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตรงบริเวณถนนพระปกเกล้า สิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือสักการะอดีตกษัตริย์ในอาณาจักรล้านนา, สุโขทัย, และพะเยาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงความเคารพในความกล้าหาญของพระองค์และเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลในชีวิตของทุกคน

แบบทดสอบ

แบบทดสอบ: ประวัติศาสตร์ล้านนา โดย: KKiK

สรุปเหตุการณ์ภายหลังอาณาจักรล้านนา

สรุปเหตุการณ์ภายหลังอาณาจักรล้านนา

1.       พ.ศ.2101 พระเจ้าบุเรงนองยึดเชียงใหม่ได้ตรงกับสมัยพระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์
2.      พ.ศ.2272 เจ้าอาวาสวัดนายางได้ให้หนานทิพย์ช้างเป็นนายกองยึดอำนาจจากลำพูน ซึ่งตั้งกำลังอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง กษัตริย์พม่าจึงให้ชื่อว่าพญาสุลวฤาชัยสงคราม ขึ้นต่อพม่าโดยตรงและปกครองเมืองลำปางอย่างอิสระ
3.      พ.ศ.2307 พม่าตั้งให้เจ้าฟ้าชายแก้วบุตรของหนานทิพย์ช้างครองเมืองลำปางต่อ เจ้าฟ้าชายแก้วมีบุตรชาย 7 คน หญิง 3 คน เรียกกันว่าวงศ์เจ้าเจ็ดตน มีเจ้ากาวิละเป็นบุตรคนโต
4.      พ.ศ.2314 พระเจ้ากรุงธนบุรีนำกำลังขึ้นมาปราบพม่าที่เชียงใหม่ พญาจ่าบ้านแห่งเมืองเชียงใหม่และเจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางเข้าสวามิภักดิ์
5.      พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านขอกำลังจากกรุงธนบุรีจนขับไล่พม่าออกไปได้ เจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนเจ้ากาวิละให้เป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง
6.      ในรัชสมัย ร.1 พม่ายึดเชียงใหม่ได้ พระยากาวิละจึงรวมกำลังพลอยู่ที่เมืองลำพูน
7.      พ.ศ. 2339 พระยากาวิละได้พาไพร่พลมาบูรณะเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางล้านนาอีกครั้งโดยให้พี่น้องวงศ์เจ้าเจ็ดตนไปครองหัวเมืองเหนือ คือ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ในฐานะ เมืองประเทศราช
8.      พ.ศ. 2427 - 2442 ( ร. 5 ) ทำการปฏิรูปหัวเมืองเหนือเพื่อให้อยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของไทย


ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา

ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา 

ภายหลังนับจากรัชสมัยของพระเมืองเกษเกล้าเป็นต้นมา ล้านนาจึงเข้าสู่ยุคเสื่อมเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยขุนนางมีอำนาจมากพอที่จะกำหนดบุคคลที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ในเมืองเชียงใหม่ได้ ความอ่อนแอนี้เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองสามารถยึดอำนาจได้ใน พ.ศ.2101 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ หลังจากนั้นพม่าได้ให้เจ้านายเมืองเหนือปกครองต่อจนกระทั่งหมดสายสกุลของพญามังราย พม่าจึงได้จัดให้ข้าหลวงจากเมืองพม่ามาปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด และแยกการปกครองในหัวเมืองเหนือต่างๆออกจากกัน ดังเช่น ให้หัวเมืองเชียงรายปกครองโดยอิสระไม่ต้องขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

ในราว พ.ศ. 2272 เจ้าอาวาสวัดนายางได้รวบรวมกำลังไพร่พลและมอบให้หนานทิพย์ช้างเป็นนายกอง เข้าโจมตีกำลังพลของเมืองลำพูนภายใต้การนำของท้าวมหายศ ที่ตั้งทัพอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนได้ชัยชนะ กษัตริย์พม่าจึงพระราชทานชื่อให้กับหนานทิพย์ช้างว่า พญาสุลวฤาชัยสงครามครองเมืองลำปางใน พ.ศ. 2275 เป็นอิสระโดยไม่ขึ้นต่อเมืองใดแต่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของพม่า ภายหลังพม่าได้แต่งตั้งให้เจ้าฟ้าชายแก้วซึ่งเป็นโอรสของพญาสุลวฤาชัยสงครามปกครองต่อใน พ.ศ. 2307 เจ้าฟ้าชายแก้วนั้นมีบุตรชายอยู่ 7 คนและบุตรีอยู่ 3 คน ซึ่งมีเจ้ากาวิละเป็นโอรสองค์โต เนื่องจากมีบุตรชายจำนวน 7 คนเป็นราชกุลที่ปกครองหัวเมืองล้านนาทั้งหมด จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันในสายสกุลวงค์เจ้าเจ็ดตน และเป็นต้นตระกูลของนามสกุลเจ้าเจ็ดตน, ณ เชียงใหม่, ณ ลำปาง, และ ณ ลำพูน



ใน พ.ศ. 2314 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้นำกำลังมาโจมตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงทำให้พญาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่เข้าสวามิภักดิ์ และได้ชักชวนเจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางให้เป็นพันธมิตรกับสยามใน พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านได้ขอกำลังจากกรุงธนบุรีเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ และในครั้งนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้บำเน็จความดีด้วยการแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็น พระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนเจ้ากาวิละเป็น พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง

ต่อมาพม่าได้เข้ามายึดอำนาจจากเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้ง จึงทำให้พระยากาวิละถอยหนีไปขอกำลังจากรัชกาลที่1 เพื่อขับไล่พม่าให้ออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ภายหลังสภาพเมืองเชียงใหม่ทรุดโทรมเป็นอย่างมากจากภัยสงคราม จึงทำให้พระยากาวิละไปสร้างเมืองชั่วคราวอยู่ที่เวียงป่าซาง(ลำพูน)เป็นเวลาหนึ่ง จนในปีพ.ศ. 2339 จึงได้ย้ายเข้าไปบูรณะเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอีกครั้งหนึ่ง โดยอยู่ภายใต้อำนาจของสยามในฐานะ ประเทศราช นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายหลัง พ.ศ. 2427 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงได้ทำการปฏิรูปหัวเมืองเหนือทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยการปฏิรูปมณฑลลาวเฉียงระยะที่ 1 และ 2 และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2442 เป็นต้นมาได้รวมเอาหัวเมืองเหนือทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยโดยปริยาย ด้วยการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล


ประวัติศาสตร์ล้านนา

ประวัติศาสตร์ล้านนา 

ภายหลังจากที่ยึดครองหริภุญไชยได้แล้ว พญามังรายได้แต่งตั้งให้อ้ายฟ้าปกครองเมืองหริภุญไชยแทน ส่วนพระองค์กลับไปสร้างเมืองแห่งใหม่ที่เวียงกุมกาม ใน พ.ศ. 1837 สำหรับสาเหตุที่ทำให้พญามังรายไม่ปกครองเมืองหริภุญไชยต่อนั้น อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าเมืองหริภุญไชยนั้นเป็นเมืองพระธาตุ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา จึงไม่เหมาะที่พญามังรายในฐานะกษัตริย์นักรบจะปกครองได้

ในช่วงที่ปกครองอยู่ที่เวียงกุมกาม พญามังรายได้แผ่อิทธิพลไปจนถึงพุกาม พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนตลอดจนถึงช่างฝีมือต่างๆจากพุกามมาไว้ที่เวียงกุมกามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่ม มีน้ำขัง จึงทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงแก้ไขปัญหาด้วยการหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ ด้วยการเชิญพระสหายร่วมสำนัก คือ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยกับพญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา หาชัยภูมิในการสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ให้ชื่อว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ โดยสร้างใน พ.ศ. 1839 ให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรล้านนา ภายหลังจากที่พญามังรายสวรรคตใน พ.ศ.1860 มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายพระองค์ ดังต่อไปนี้

กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย

1. พญามังราย พ.ศ.1839-1860
2. พญาชัยสงคราม พ.ศ.1860-1860
3. พญาแสนพู พ.ศ.1861-1862

พ.ศ.1867-1870

4. พญาคำฟู พ.ศ.1871-1881
5. พญาผายู พ.ศ.1888-1910
6. พญากือนา พ.ศ.1910-1931

ยุคล้านนารุ่งเรือง

7. พญาแสนเมืองมา พ.ศ. 1931-1943
8. พญาสามฝั่งแกน พ.ศ. 1944-1985
9. พญาติโลกราช พ.ศ. 1985-2030
10. พระยอดเชียงราย พ.ศ. 2030-2038
11. พระเมืองแก้ว พ.ศ. 2038-2068

ยุคล้านนาเสื่อม

12. พระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. 2068-2081

พ.ศ. 2086-2088

13. พระนางจิรประภา พ.ศ. 2088-2089
14. พระไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. 2089-2090
15. พระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์ พ.ศ. 2094-2107
16. พระนางวิสุทธิเทวี พ.ศ 2107-2121
17. ข้าหลวงพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2121

กษัตริย์ที่เป็นองค์อุปถัมภ์ในพระพุทธศาสนา ตลอดจนกษัตริย์ที่มีบทบาทและความสำคัญต่ออาณาจักรล้านนานับแต่เริ่มสถาปนา จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า คือ

พญาแสนพู พญาแสนพูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 3 ในราชวงศ์มังราย พระองค์โปรดให้ท้าวคำฟูโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และในราว พ.ศ. 1870 ทรงโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสนในบริเวณเมืองเงินยาง และเสด็จประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ การสร้างเมืองเชียงแสนของพญาแสนพูนั้นก็เพื่อป้องกันข้าศึกทางด้านเหนือ และควบคุมหัวเมืองต่างๆที่อยู่รายล้อม คือ เมืองเชียงราย, เมืองฝาง, เมืองสาด, เมืองเชียงตุง, เมืองเชียงรุ่ง, และเมืองเชียงของ



พญากือนา ทรงส่งราชฑูตไปอาราธนาพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยซึ่งเป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ให้มาสืบพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1912 เรียกนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่า(ตรงกับสมัยของพระยาลิไท) ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน เมืองลำพูน แล้วย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอกใน พ.ศ. 1914 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสวนดอก ซึ่งเป็นสวนดอกไม้ที่พญากือนาได้ถวายพร้อมกับสร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระมหาสุมนเถระ เรียกวัดนี้ว่า วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม พระมหาสุมนเถระนั้นไม่ได้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาโดยตรง แต่ศึกษาด้วยการไปศึกษาที่สำนักของพระอุทุมพรมหาสวามีที่เมืองพัน บริเวณอาวเมาะตะมะซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเมืองสุโขทัยช่วงรัชสมัยพระยาลิไท(พ.ศ.1890-1911)

พญาติโลกราชหรือพระเจ้าติโลกราช ในสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนามีความเจริญอย่างมาก พระองค์ให้การสนับสนุนพุทธศาสนานิกายสีหล ซึ่งภิกษุที่สำคัญในนิกายนี้และอยู่ร่วมสมัยกับพญาสามฝั่งแกนพระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราชคือพระญาณคัมภีระ(มหาคัมภีร์) พระญาณคัมภีระและคณะสงฆ์ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาตั้งแต่สมัยพญาสามฝั่งแกนแล้ว

หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงอาราธนาพระมหาเมธังกร ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแดงหลวง และตั้งให้ดำรงตำแหน่งมหาสวามี(สังฆราชา) พร้อมทั้งสนับสนุนให้พระสงฆ์นิกายพื้นเมืองที่มีมาแต่สมัยพระนางจามเทวี และนิกายลังกาวงศ์เก่าหรือรามัญวงศ์ให้บวชใหม่ในนิกายสีหลหรือนิกายลังกาวงศ์ใหม่ให้หมด ต่อมาได้ทรงโปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด)ในพ.ศ. 2020 เพื่อให้ลดการขัดแย้งของคณะสงฆ์นิกายรามัญวงศ์กับนิกายสีหล การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ทำให้เกิดพระสงฆ์ที่ทรงความรู้จำนวนมาก เช่น พระธรรมทิน พระสิริมังคลาจารย์ เป็นต้น นิกายสีหลนี้พระภิกษุในเมืองเชียงใหม่ได้เดินทางไปศึกษาที่ลังกาตั้งแต่สมัยพญาสามฝั่งแกนแล้ว และกลับมาในสมัยดังกล่าว แต่เนื่องจากมีวัตรปฏิบัติที่ต่างกันมากกับนิกายรามัญวงศ์ จึงได้รับการต่อต้านตลอดเวลา พญาสามฝั่งแกนจึงแก้ปัญหาด้วยการขับไล่พระสงฆ์ในนิกายสีหลนี้ให้ออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวได้กระจายตัวไปจำพรรษาอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะในหัวเมืองเมืองลำปางและเมืองเชียงราย

พระเมืองแก้ว เป็นยุคที่พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และเกิดวรรณกรรมภาษาบาลีเนื่องในพุทธศาสนาหลายเรื่อง(นิกายสีหล) เช่น

ชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเถระ
มังคลัตถทีปนีและเวสสันตรทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์
จามเทวีวงศ์ ของพระพุทธญาณและพระพุทธพุกาม

ในชินกาลมาลีปกรณ์เรียกพระนามของพระเมืองแก้วว่า ติลกปนัดดาธิราช ซึ่งเป็นการยกย่องพระเมืองแก้วเช่นเดียวกับพระเจ้าติโลกราชว่า เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง นอกจากนั้นในสมัยของพระองค์ยังทรงขยายอำนาจไปด้านใต้ ทำให้ต้อง

ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา พระเมืองแก้วได้สร้างความมั่นคงให้กับเมืองเชียงใหม่ด้วยการสร้างกำแพงเมืองป้องกันข้าศึกให้มีความแข็งแรงใน พ.ศ. 2059


ชุมชนลุ่มแม่น้ำสำคัญก่อนอาณาจักรล้านนา

ชุมชนลุ่มแม่น้ำสำคัญก่อนอาณาจักรล้านนา 

ชุมชนที่ราบลุ่มแม่น้ำกก การก่อตั้งชุมชนมีความสัมพันธ์กับตำนานท้องถิ่น ที่กล่าวถึงเรื่องราวการตั้งบ้านเมืองมาแต่สมัยโบราณ แบ่งเป็น 2 สมัย คือ สมัยชุมชนในตำนานและสมัยนครเงินยาง

สมัยชุมชนในตำนาน เรื่องราวสมัยนี้ส่วนใหญ่อาศัยตำนานเป็นหลัก ดังเช่น ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานเชียงแสน(หรือตำนานสิงหนวัติกุมาร/สิงหนติ) กล่าวถึงความเป็นมาอันไกลโพ้นว่าเดิมที่ราบลุ่มแม่น้ำกกเป็นที่อยู่ของกรอม(ขอม) ต่อมากลุ่มของคนไทยได้เคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ปะบนกับชาวพื้นเมือง ลักษณะที่ตำนานได้กล่าวย้อนไปในอดีตที่ไกลมาก จึงเป็นปัญหาไม่สามารถกำหนดระยะเวลาของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนได้ และยังไม่สามารถยุติได้ว่าเมืองที่ตำนานได้กล่าวไว้มีจริงหรือไม่

  • ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ กล่าวว่าแต่เดิมพื้นที่เป็นของกรอม(ขอม)มาก่อน โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน กรอมได้ขยายอำนาจตามลำน้ำโขงแล้วสร้างเมืองสุวรรณโคมคำขึ้น เป็นเกาะอยู่กลางลำน้ำโขงใต้ปากน้ำกกลงไป เป็นตำนานกล่าวย้อยอดีตไปมากที่สุด
     
  • ตำนานเชียงแสน (ตำนานสิงหนวัติกุมาร)กล่าวว่าสิงหนวัติกุมารสร้างเวียงโยนกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 มีกษัตริย์สืบมา 45 พระองค์ จนในที่สุดเวียงโยนกได้ล่มสลายเป็นหนองน้ำในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยสิงหนวัติกุมารสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ฮ่อ มีเมืองหลวงอยู่ที่นาคพันธสิงหนวัติ
สมัยนครเงินยาง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ล้านนามีความเกี่ยวพันกับพญามังรายโดยตรง ซึ่งอยู่ในราชวงศ์ ลาว หรือ ลวจักราชกษัตริย์ทุกพระองค์ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า ลาวนำหน้าชื่อทุกพระองค์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ระบุที่มาของลาวจงไว้อย่างชัดเจน กล่าวแต่เพียงว่าการเกิดของลาวจงเป็น โอปาติกะ หมายถึงไม่ทราบว่าเป็นลูกของใคร แต่การที่กล่าวว่าลาวจงมาจากสวรรค์แล้วมาลงตรงบริเวณดอยตุง อาจหมายถึงว่าลาวจงมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ดอยตุง ตำนานดอยตุงอ้างว่าปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้าของมิลักขุ มีอาชีพทำไร่อยู่บนดอยตุงและค้าขายกับคนไทยในพื้นราบที่ตีนดอยตุง ในระยะแรกก่อนสถาปนาพระพุทธศาสนาดอยตุงมีชื่อว่า ดอยดินแดงและดอยปู่เจ้าตามลำดับ

กลุ่มลาวจงมีเมืองเชียงลาวเป็นจุดเริ่มต้นของอำนาจ โดยเมืองเชียงลาวมีตำแหน่งอยู่บริเวณดอยตุงและน้ำแม่สาย ศูนย์กลางของราชวงศ์ลาวได้ย้ายจากเมืองเชียงลาว มาอยู่ที่แห่งใหม่ที่เมืองเงินยางซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เมืองเงินยางในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 น่าจะยังคงมีฐานะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและมีอำนาจทางการเมืองอยู่ ทั้งนี้อาจจะมีเหตุผลมาจากการที่เมืองเงินยางยังคงใช้วิธีสร้างอำนาจทางการเมือง ด้วยระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้นำเมืองต่างๆด้วยการอภิเษกสมรส ดังเช่นการอภิเษกสมรสระหว่างพญาลาวเม็งแห่งเมืองเงินยางกับนางอั้วมิ่งจอมเมือง(นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ซึ่งเป็นธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเมืองเชียงรุ่ง หลังจากนั้นจึงได้ให้กำเนิดพญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา

ชุมชนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง การสร้างบ้านแปลงเมืองในลุ่มน้ำอิงเป็นผลมาจากการขยายอาณาเขตของราชวงศ์ลวจักราช โดยมาสร้างเมืองใหม่บริเวณลุ่มน้ำอิงว่า เมืองภูยาวตำนานเมืองพะเยากล่าวถึงความเป็นมาของเมืองว่า พญาลาวเงินแห่งเมืองเงินยางส่งราชบุตรคือขุนจอมธรรม มาสร้างเมืองพะเยา ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ” เมืองพะเยาตั้งอยู่บนที่ราบปลายภูเขาที่มีชื่อเรียกในตำนานว่า ภูยาว ต่อมากลายเป็น พยาว และในที่สุดก็เป็น พะเยา

ภูยาวหรือดอยด้วนเป็นเทือกเขาทอดยาวตามชื่อจากทิศเหนือลงใต้ ตำนานเมืองพะเยาชี้ให้เห็นถึงการเลือกชัยภูมิสร้างเมืองพะเยา ว่าเพราะมีชัยมงคลที่ดีอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรกคือมีแม่น้ำสายตาหรือแม่น้ำอิงอยู่ทางใต้ของเมืองและไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประการที่สองคือมีกว๊านพะเยาหรือหนองเอี้ยงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง และประการสุดท้ายที่หัวเวียงมีดอยจอมทอง ที่บรรจุพระธาตุจอมทองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตำนานดังกล่าวแสดงว่าการสำรวจดูพื้นที่เพื่อเลือกทำเลสร้างเมือง ต้องทำอย่างละเอียดและสิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญมากคือต้องมีแหล่งน้ำและที่ราบ เมืองพะเยามีความเจริญที่สุดในของพญางำเมืองราวพุทธศตวรรษที่ 19 เนื่องจากเป็นพระสหายกับพญามังรายและพ่อขุนรามคำแหง

ชุมชนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน แบ่งเป็น 2 สมัย คือ ชุมชนพื้นเมืองลัวะและชุมชนของแคว้นหริภุญไชย

ชุมชนพื้นเมืองลัวะ ลัวะเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมาเป็นเวลาที่ยาวนาน ก่อนการเข้ามาตั้งเมืองของพระนางจามเทวีและพญามังราย ศูนย์กลางของลัวะอยู่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพมีปู่แสะย่าแสะเป็นผีบรรพบุรุษ โดยฤาษีวาสุเทพผู้สร้างเมืองลำพูนให้กับพระนางจามเทวี หรือแม้แต่ขุนวิลังคะผู้ทำศึกสงครามกับนางจามเทวีต่างก็เป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะ สำหรับขุนวิลังคะนั้นเป็นกลุ่มคนในพื้นที่เดิม(ลัวะ)ในเมืองหริภุญไชยก่อนการเข้ามาของนางจามเทวี ได้ต่อสู้กับนางจามเทวีเป็นเวลาที่ยาวนานแต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้และตกอยู่ภายใต้อำนาจ ในเวลาต่อมากลุ่มชนลัวะต่างมีบทบาทช่วยพญามังรายให้ตีเมืองหริภุญไชยได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งตรงกับสมัยของพญาญี่บาปกครองเมืองหริภุญไชย


ชุมชนแคว้นหริภุญไชย มีพัฒนาการขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 13 โดยพระเจ้ากรุงละโว้ได้ส่งพระธิดานามว่าพระนางจามเทวีให้ขึ้นมาครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก ในเอกสารของจีนเรียกเมืองหริภุญไชยว่า หนีหวังก๊ก แปลว่าอาณาจักรที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ โดยเสด็จขึ้นครองราชย์ในราว พ.ศ.1206 และสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นครใน พ.ศ. 1226 โดยนำวัฒนธรรมแบบทวารวดีซึ่งมีศูนย์กลางของวัฒนธรรมอยู่ที่เมืองละโว้มาเผยแพร่ในเมืองตอนเหนือสุด เมืองหริภุญไชยถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยพญามังราย ในราว พุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยของพญาญี่บา

ชุมชนที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง ประวัติศาสตร์ของนครรัฐเขลางค์และแคว้นหริภุญไชย มีพัฒนาการร่วมกันมานับตั้งแต่การสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 14 โดยพระนางจามเทวี และสิ้นสุดนครรัฐพร้อมกันในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เขลางค์นครและหริภุญไชยในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 มีความสัมพันธ์ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องที่ใกล้ชิดกัน

เมืองเขลางค์นครเกิดจากการสร้างบ้านแปลงเมืองของแคว้นหริภุญไชย ซึ่งขยายข้ามดอยขุนตาลมาสร้างเมืองแห่งใหม่ในบริเวณที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก โดยพระนางจามเทวีได้ส่งพระเจ้าอนันตยศโอรสให้มาครองเมืองเขลางค์นคร เมืองเขลางค์รุ่นแรกนี้ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีสัณฐานเป็นรูปหอยสังข์เหมือนเมืองหริภุญไชย

เรื่องราวของเมืองเขลางค์นครในสมัยหลังพระนางจามเทวี ตำนานมูลศาสนาและชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวถึงไทยยะอำมาตย์ยกทัพจากเขลางค์นคร มาปลงกษัตริย์เมืองหริภุญไชยแล้วไทยยะอำมาตย์ได้ครองเมืองหริภุญไชย หลังจากนั้นก็ข้ามมาถึงสมัยพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชยและเมืองเขลางค์นคร ตำนานดังกล่าวจึงไม่ได้ให้รายละเอียดเท่าที่ควร เท่าที่มีหลักฐานยืนยันสันนิษฐานว่าเขลางค์นครมีฐานะเป็นนครรัฐ เช่นเดียวกันกับเมืองหริภุญไชย เมืองแพร่ เมืองพะเยา

ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เป็นที่ตั้งของเมืองแพร่ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม แพร่เป็นรัฐอิสระมีพัฒนาการขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่17-20 และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอาณาจักรสุโขทัยโดยตรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเดียวกัน แพร่อยู่ภายใต้อำนาจของสุโขทัยอยู่ 2 ช่วง คือ สมัยพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. 1822-1841 และอีกครั้งหนึ่งคือในสมัยพระยาลิไท พ.ศ.1890 -1911 แล้วตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริงในช่วงสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1986)

ที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน เป็นเมืองที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาจึงติดต่อกับรัฐอื่นได้ยาก เส้นทางที่ติดต่อได้สะดวกคือล้านนาตะวันออกและลาวที่หลวงพระบาง ตำนานพื้นเมืองน่านกล่าวถึงการตั้งเมืองขึ้นราว พุทธศตวรรษที่18 โดยพญาภูคากษัตริย์ราชวงศ์กาว ซึ่งครองเมืองอยู่ที่เมืองย่างอันเป็นสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำน่าน โดยส่งราชโอรสองค์โตให้ไปครองเมืองลาวหลวงพระบาง ส่วนโอรสองค์น้องให้ไปปกครองที่เมืองปัว ดังนั้นจึงทำให้เมืองน่านมีความสัมพันธ์กับลาวเป็นอย่างดี น่านมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสุโขทัยเป็นอย่างมากในราว พุทธศตวรรษที่20 และตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรล้านนาในช่วงปลาย พุทธศตวรรษที่ 20